ภาพถ่าย_วัดพระธาตุจอมปิง_ลำปาง_Wat_Phra_That_Chom_Ping.


วัดพระธาตุจอมปิง ลำปาง


วัดพระธาตุจอมปิง ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาไทย สิ่งที่หน้าสนใจของวัดนี้คือ การเกิดภาพเงาสะท้อนขององค์พระธาตุเมื่อมองเข้าไปในอุโบสถ โดยมองผ่านรูเล็กๆ ที่หน้าต่างถ้ามีแสงสว่างจะพบภาพเงาสะท้อน ของพระเจดีย์อยู่บนพื้นโบสถ์....

วัดพระธาตุจอมปิง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง 


วัดพระธาตุจอมปิง เป็นวัดโบราณ ตามตำนานกล่าวว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราชแห่งอาณาจักรล้านนาไทย วัดนี้มี ความมหัศจรรย์ของการเกิดเงาสะท้อนเป็นภาพสีธรรมชาติขององค์พระธาตุ ผ่านรูเล็กบนหน้าต่าง มาปรากฏบนพื้นภายในพระอุโบสถตลอดเวลาที่มีแสงสว่างทั้งกลางวันและกลางคืน



ก่อนหน้านั้น วัดพระธาตุจอมปิง ถือว่าเป็นวัดเล็กๆในชนบท เรียกว่าเป็นวัดประจำตำบลไม่เป็นที่รู้จักกันในหมู่นักท่องเที่ยวมากนัก แต่ก็เป็นวัดเก่าแก่และสร้างมานานกว่าวัดในตำบลเดียวกัน มีพระธาตุเจดีย์สูง 17 วา เป็นจุดเด่นและเป็นที่สักการะของชุมชนจาก ตำบลนาแก้วทั้งสองฝั่งแม่วัง และเป็นที่ศรัทธาจากหมู่บ้านตำบลอื่นในอำเภอเดียวกัน



จากข่าวที่ปรากฏเงาพระธาตุเจดีย์บนหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อหลายปีก่อน กลายเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้คนหลั่งไหลกันมาชมภาพมหัศจรรย์ จน วัดพระธาตุจอมปิง กลายจุดสนใจและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง



พระธาตุจอมปิง เป็นศิลปะแบบล้านนา มีการบูรณะมาหลายครั้ง ตามตำนานการสร้างได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า (กระดูกซี่โครงด้านซ้าย) พระธาตุแห่งนี้เป็นภาพสะท้อนสีของตัวองค์พระธาตุ ซึ่งแสงจากภายนอกผ่านรูเล็ก ๆ ที่บานหน้าต่างมาตกที่พื้นพระอุโบสถเป็นรูปองค์พระธาตุมีสีธรรมชาติสวยงามมาก ภาพนี้จะปรากฏเมื่อมีแสงจากพระอาทิตย์ พระจันทร์ หรือแสงสว่างจากไฟส่องมา มีการพบเมื่อปี พ.ศ. 2531 โดยเด็กวัดเข้าไปเล่นซ่อนหาในโบสถ์ เมื่อปิดประตูจึงปลากดเห็นเป็นภาพพระธาตุบริเวณพื้นโบสถ์ จึงนำมาเล่าให้คนในหมู่บ้านฟังจนข่าวแพร่ออกไปทั่ว ต่อมาก็มีผู้คนสนใจมาสักการะบูชาและชมเงาพระธาตุ จนมีชื่อเรียกกันมากมาย เช่น วัดพระธาตุเงาทอง วัดพระธาตุสองเงา วัดพระธาตุมหัศจรรย์ วัดพระธาตุเงาสีธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นงานอัจฉริยะของบรรพชนในจังหวัดลำปางมีเงาภาพลักษณะนี้อยู่ 4 แห่งคือ วัดอัคโขชัยศรี วัดผาแดงหลวง อำเภอแจ้ห่ม วัดพระธาตุลำปางหลวงและ วัดพระธาตุจอมปิง อำเภอเกาะคา



พระวิหารหลวง มีองค์พระประธานชื่อ "พระพุทธจอมพิงค์ชัยมงคล" ตัวอาคารพระวิหารที่เห็น ปัจจุบันนี้ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้มาทำการบูรณะ ส่วนภาพฝาผนังภายในเป็นภาพจิตรกรรมเก่าแก่เล่าเรื่องราวพุทธประวัติ ใช้สีฝุ่นเขียนเมื่อปี พ.ศ. 2470 และภาพกัณหา ชาลี นรก สวรรค์ เขียนจากสีน้ำมันโดยพระสมอิน เมื่อปี พ.ศ. 2535



พระอุโบสถ ภายในมีพระประธานปางมารวิชัย ประดิษฐานลักษณะองค์พระประธานเป็นศิลปะพื้นบ้านและมีตู้พระธรรมโบราณอยู่จำนวน 2 ใบ หน้าบันพระอุโบสถมีลวดลายปูนปั้นกลมกลืนการสร้างได้ฉากสวยงามตามศิลปะพื้นบ้าน


อาคารพิพิธภัณฑ์ เมื่อ พ.ศ. 2518 และ พ.ศ. 2535 ได้ขุดพบโบราณวัตถุประเภทสำริด หิน ดินเผา และโลหะ อยู่ในหลุมศพมนุษย์ รอบ ๆ วัดพระธาตุจอมปิง ซึ่งแสดงถึงการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในสมัยนั้นผลิตขึ้นมา สันนิษฐานว่าเป็นแห่งแรกของภาคเหนือ นับได้ว่าเป็นโบราณคดีที่สำคัญยิ่งนอกจากนี้ยังมีวัตถุอื่นๆ ให้ชมอีกมากมาย




ศาลเจ้าพ่อม้าขาว ตั้งอยู่ทางด้านหลังของ วัดพระธาตุจอมปิง กล่าวว่าเมื่อเจ้าเมืองสร้างเมืองนี้เสร็จต้องการคนเฝ้าเมืองได้ประกาศหาผู้อาสา ต่อมามีชายผู้หนึ่งได้ขี่ม้าขาวเข้ามา ศีรษะยังโล้นหรือมีผมไฟ ได้อาสาจะเฝ้าเมืองนี้ ทราบชื่อภายหลังว่าหนานกัณฑิยะ (หนาน ภาษาพื้นเมือง หมายถึง ผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุเมื่อสึกออกมาเรียกคำนำหน้าชื่อว่า "หนาน") จากนั้นจึงทำพิธีประหารด้วยการตัดคอและนำร่างมาฝังยังบริเวณเมืองนี้ ได้มีเรื่องเล่าถึงการแสดงอภินิหารต่าง ๆ มากมาย จนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน
และเมื่อปี พ.ศ. 2539 ได้ทำการสร้างศาลแบบล้านนาอัญเชิญรูปปั้นท่านมาประดิษฐานในศาลแห่งนี้
เพื่อเป็นที่สักการะบูชาของชาวบ้านที่อาศัยในละแวกนี้ และขนานนามท่านว่า "เจ้าพ่อม้าขาว"

หอกลอง เป็นกลองเพลแบบโบราณมีขนาดใหญ่ จะใช้ตีในวันพระหรือวันสำคัญต่าง ๆ ในสมัยโบราณ ตัวกลองทำด้วยไม้ที่มีลำต้นใหญ่มาเจาะรูข้างในลงอักขระคาถาเป็นภาษาพื้นเมือง แล้วนำนังวัวมาห่อหุ้มยึดสลักด้วยไม้เนื้อแข็ง หอกลองนี้อยู่ในเขตพุทธาวาส

วัดพระธาตุจอมปิงมี กู่ครูบาสุนันตะ นักบุญแห่งเมืองจุมภิตาราม ตั้งอยู่ข้างพระธาตุ (กู่ คือ ที่บรรจุอัฐิ)




หงส์ สร้างด้วยทองคำสำริดจำนวน 2 ตัว ตัวผู้ถูกขโมยไปเมื่อ พ.ศ. 2539 นับว่าเป็นหงส์ที่มีความ สวยงามมาก โดยเฉพาะช่วงหางเป็นรูปลายกนก มีความอ่อนช้อยละเอียดในฝีมือช่างตามตำนานเล่าว่า เมื่อพม่าเข้ามาปกครองบ้านเมืองใดจะสร้างหงส์ไว้เพื่อรำลึกถึงเมืองหงสาวดี ซึ่งเป็นราชธานีของประเทศพม่า หงส์นี้ตั้งอยู่บนเสาบริเวณหน้าพระวิหารหลวง

ต้นมะค่ายักษ์ มีจำนวนสองต้นอยู่บริเวณหน้าวัดและหลังวัด ต้นที่อยู่หลังวัดถูกชาวบ้านใช้ไฟสุมลำต้นจนตายในเวลาต่อมา ส่วนต้นที่อยู่บริเวณหน้าวัดท่านครูบาเจ้าภิชัยขาวปลีกกล่าวว่า "ถ้าผู้ใดตัดต้นไม้นี้จะมีอันเป็นไป เพราะเป็นต้นไม้เก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองอายุเป็นร้อย ๆ ปี



ภายใน วัดพระธาตุจอมปิง ยังมีโบราณวัตถุต่างๆ ที่ขุดพบในบริเวณนี้ด้วยสิ่งที่น่าสนใจอีก เช่น ประเภทสำริด หิน ดินเผา และโลหะ อยู่ในหลุมศพมนุษย์ รอบ ๆ วัดพระธาตุจอมปิง



การเกิดเงาสะท้อนเป็นภาพสีธรรมชาติขององค์พระธาตุผ่านรูเล็กบนหน้าต่างมาปรากฏบนพื้นภายใน
พระอุโบส



ภาพบรรยากาศอื่นๆที่ผมได้ไปสักการะ วัดพระธาตุจอมปิง ครับ






แผนที่ วัดพระธาตุจอมปิง จังหวัดลำปาง



ดูแผนที่ขนาดใหญ่ขึ้น